หนึ่งในหลักสูตรคณิตศาสตร์ที่นำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ก็คือ “การคิดเปอร์เซ็นต์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) หรือฝ่ายบุคคล ที่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐาน ด้านการคำนวณเปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้ในการคิดเงินเดือน โบนัส หรือการปรับค่าจ้างต่าง ๆ ให้แม่นยำ และถูกต้อง
ในบทความนี้ Cloud-TA ขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจ “วิธีคิดเปอร์เซ็นต์” แบบเข้าใจง่าย สำหรับสายงาน Human Resource พร้อมยกตัวอย่างการใช้งานจริง ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย

เปอร์เซ็นต์ คืออะไร? พร้อมวิธีคิดเปอร์เซ็นต์ ที่ HR ต้องรู้!
เปอร์เซ็นต์ คือ การเปรียบเทียบค่าหนึ่งกับจำนวนเต็ม 100 หรือที่เรียกกันว่า “ร้อยละ” ซึ่งมักใช้แทนสัดส่วนของข้อมูลที่ต้องการวิเคราะห์ บางคนอาจมีพื้นฐานมาบ้างจากการใช้ในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับสายอาชีพ Human Resource (HR) อาจต้องใช้วิธีคิดเปอร์เซ็นต์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้
- การปรับเงินเดือน
พนักงานออฟฟิศ หรือแม้แต่ข้าราชการ หลายคนอาจคุ้นเคยกับการปรับเงินเดือนในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยทั่วไปจะคำนวณจากฐานเงินเดือนเดิม โดยใช้สูตรดังนี้
[(100 + เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น) x เงินเดือนเดิม)] ÷ 100 = เงินเดือนใหม่
ยกตัวอย่าง: นาย ก ได้รับเงินเดือนเดิมอยู่ที่ 20,000 บาท และได้รับการปรับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 5% สามารถคำนวณได้ว่า [(100 + 5) x 2,000] ÷ 100 = 21,000 ดังนั้น นาย ก จะได้รับเงินเดือนใหม่เป็น 21,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 1,000 บาท (21,000 – 20,000)
- โบนัส
โบนัส เป็นผลตอบแทนพิเศษที่องค์กรมอบให้กับพนักงาน โดยมักคิดจากผลการดำเนินงานของบริษัท หรือผลงานของพนักงานในแต่ละปี การคิดโบนัสแบบเปอร์เซ็นต์สามารถคำนวณจากฐานเงินเดือน โดยใช้สูตร ดังนี้
เงินเดือน x อัตราโบนัส (%) = โบนัสที่ได้รับ
ยกตัวอย่าง: หากนาย ก ได้รับเงินเดือน 20,000 บาท และได้รับอัตราโบนัสอยู่ที่ 10% ของเงินเดือน สามารถคำนวณได้ว่า (20,000 x 10) ÷ 100 = 2,000 บาท แสดงว่าพนักงาน นาย ก จะได้รับโบนัสจำนวน 2,000 บาท
- ค่าคอมมิชชัน
สำหรับค่าคอมมิชชัน เป็นรายได้ที่พนักงานขายได้รับ จากยอดขายที่ทำได้ โดยมักคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายรวม สามารถใช้สูตรวิธีคิดเปอร์เซ็นต์ ดังนี้
(ยอดขาย x จำนวนเปอร์เซ็นต์คอมมิชชัน) ÷ 100 = เงินคอมมิชชันที่ได้รับ
ยกตัวอย่าง: นาย ก ขายสินค้าได้ยอดรวม 200,000 บาท โดยบริษัทได้กำหนดค่าคอมมิชชัน 3% สามารถคำนวณได้ว่า (200,000 x 3) ÷ 100 = 6,000 ดังนั้น นาย ก จะได้รับค่าคอมมิชชัน 6,000 บาท
- การขาดงาน หรือลา
การคำนวณเปอร์เซ็นต์การขาดงานหรือการลา ได้ถูกนำมาใช้ประเมินการทำงานของพนักงาน โดยสามารถใช้สูตรดังต่อไปนี้ในการคำนวณ
(วันที่ลา ÷ วันที่ทำงานจริงในเดือนนั้น) x 100 = % การขาดงาน หรือลา
ยกตัวอย่าง: นาย ก ขาดงาน 2 วัน จากวันทำงานทั้งหมด 21 วัน สามารถคำนวณได้ว่า (2 ÷ 21) x 100 = 9.52% ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบการประเมินผลพนักงาน เพื่อวางแผนพัฒนาหรือปรับปรุงด้านการบริหารงานบุคคล
- การลาออกของพนักงาน
อัตราการลาออก (Turnover Rate) เป็นหนึ่งในดัชนีสำคัญที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ใช้ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม และบรรยากาศในการทำงานภายในองค์กร โดยตัวเลขนี้สะท้อนถึงความพึงพอใจในการทำงาน โดยสามารถคำนวณได้จากสูตรวิธีคิดเปอร์เซ็นต์ ต่อไปนี้
(จำนวนพนักงานที่ลาออก ÷ จำนวนพนักงานเฉลี่ยในช่วงเวลานั้น) × 100 = อัตราการลาออก (%)
ยกตัวอย่าง: ถ้าแผนกการผลิตมีพนักงานเฉลี่ยในช่วงเดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ 70 คน และมีพนักงานลาออกทั้งหมด 20 คน จะสามารถคำนวณอัตราการลาออกได้ว่า (20 ÷ 70) × 100 = 28.57% โดยตัวเลขนี้สามารถนำไปใช้วิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางในการรักษาบุคลากร
สำหรับบริษัท หรือโรงงานที่ต้องการตัวช่วย ในการเพิ่มความสะดวกให้กับพนักงานฝ่ายบุคคล ขอแนะนำ Cloud-TA ระบบบันทึกเวลาการทำงานแบบออนไลน์ ที่ช่วยให้การจัดการข้อมูลเวลาเข้า-ออก การลาหยุด และสถิติต่าง ๆ ของพนักงานเป็นเรื่องง่าย และแม่นยำมากยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับการนำไปวิเคราะห์ หรือประเมินผลในงาน HR

ข้อควรระวัง! วิธีคิดเปอร์เซ็นต์ อย่างไร ? ให้แม่นยำ
เนื่องจาก การทำงานของฝ่าย Human Resource (HR) ต้องรับผิดชอบการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก จึงมีโอกาสที่การคำนวณเปอร์เซ็นต์ อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ หากไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ ดังนั้น มาดู 4 ข้อควรระวังสำคัญ ที่จะช่วยให้ใช้วิธีคิดเปอร์เซ็นต์ได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น ดังต่อไปนี้
- การเก็บข้อมูลไม่ครบถ้วน
สิ่งสำคัญที่มักถูกมองข้าม คือการเลือกช่วงเวลา เช่น การใช้ค่าเฉลี่ยรายเดือนแทนรายปี หรือสลับกัน ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม กับจุดประสงค์ของการคำนวณให้ชัดเจนก่อนเริ่มทำงานเสมอ
- หลีกเลี่ยงค่าเฉลี่ยรวม
การใช้ค่าเฉลี่ยจากจำนวนพนักงานทั้งหมด อาจทำให้มองไม่เห็นปัญหาเฉพาะจุด เช่น การลาของพนักงานบางแผนกที่สูงกว่าปกติ ควรแยกวิเคราะห์วิธีคิดเปอร์เซ็นต์เป็นรายแผนก หรือรายทีม เพื่อให้เห็นภาพที่แท้จริง และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
- ตรวจสอบความสม่ำเสมอของหน่วย
หนึ่งในความผิดพลาดที่พบบ่อย คือ การนำหน่วยที่ต่างกัน มาคำนวณร่วมกัน เช่น เปอร์เซ็นต์จากจำนวนคน กับเปอร์เซ็นต์จากชั่วโมงการทำงาน หากไม่แปลงหน่วยให้เท่ากันก่อน จะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้คลาดเคลื่อนทันที
- ตรวจสอบค่าผิดปกติ
ในบางกรณี การใช้เปอร์เซ็นต์วิเคราะห์ข้อมูล หากไม่กรองค่าที่ผิดปกติออกก่อน อาจทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น หากพนักงานบางคนลาหลายวันในเดือนเดียว ก็อาจดันค่าเฉลี่ยการลาของทั้งแผนกให้สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินที่ไม่แม่นยำ ดังนั้น ควรแยกกรณีพิเศษออกจากการคำนวณ เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวม
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเทคนิควิธีคิดเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ที่เตรียมตัวเข้าสู่สายงาน HR หรือผู้ที่ต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูล หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจหลักการคิดเปอร์เซ็นต์ได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งข้อควรระวังต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการคำนวณข้อมูลเชิงสถิติ ในองค์กรได้อย่างรอบคอบ
สุดท้ายนี้ หาก Human Resource หรือผู้ประกอบการ กำลังประสบปัญหาเรื่องการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ขอแนะนำ Cloud-TA ระบบบันทึกเวลาทำงาน แบบออนไลน์ยุคใหม่ที่ออกแบบมา เพื่อช่วยให้การจัดการเวลาการทำงานของพนักงานเป็นเรื่องง่าย สนใจสามารถติดต่อสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Website: https://cloud-ta.com/
Email: cloud-ta@innova.co.th
Tel: 091-717-5499, 092-273-1760 (Sale)