กฎหมายแรงงาน

แม้ว่าหลายคนจะคิดว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมนุษย์เงินเดือนทุกคน ไม่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ กฎหมายแรงงาน ขั้นพื้นฐาน อาจถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสถานการณ์ต่าง ๆ ในที่ทำงานได้โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ในบทความนี้ Cloud-TA จะมาแชร์สาระน่ารู้เกี่ยวกับ กฎหมายแรงงาน ประจำปี 2568 ที่เราสรุปมาให้อ่านแบบเข้าใจง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบในที่ทำงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงาน ให้ดียิ่งขึ้น หากพร้อมแล้ว เราไปดูกันได้เลย

กฎหมายแรงงาน

กฎหมายแรงงาน คืออะไร

กฎหมายแรงงาน หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน คือ กฎหมายที่มีการบัญญัติสิทธิ และหน้าที่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมีข้อกำหนดอย่างครอบคลุม และคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานในองค์กร ทั้งในเรื่องของวันลา อัตราค่าจ้าง เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง รวมถึงสิทธิแรงงานเด็ก และแรงงานหญิง 

รวมไปถึงสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้การจ้างงาน การใช้งาน การประกอบกิจการ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างเป็นไปอย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่ดี และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 

โดยการบังคับใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีกรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักที่คอยรับผิดชอบดูแล การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน โดยสามารถตรวจสอบสถานประกอบการ และดำเนินการตามกฎหมาย กับนายจ้างที่ละเมิดกฎแรงงาน และเอาเปรียบลูกจ้าง

กฎหมายแรงงาน

แนะนำ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ที่พนักงานควรได้รับ

ในปี 2568 ได้มีการปรับเปลี่ยนสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้พนักงานของแต่ละองค์กร ได้รับผลประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับเนื้องาน ทั้งยังป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน โดยสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของพนักงาน ประจำปี 2568 มีดังนี้

  • ค่าล่วงเวลา

การทำงานนอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ หรือในวันหยุด นายจ้างต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอย่างชัดเจน โดยนายจ้างสามารถให้ลูกจ้าง ทำงานล่วงเวลาได้ ในกรณีที่มีงานต้องทำติดต่อกัน ถ้าหยุดจะเกิดความเสียหาย หรือเป็นงานเร่งด่วน

โดยนายจ้างจะต้องให้ลูกจ้าง มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 20 นาที ก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลา พร้อมกับจ่ายเงินในอัตราไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างปกติ สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ และไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างปกติ สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด

  • วันหยุดตามประเพณี

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ได้มีการระบุไว้ชัดเจนว่า ลูกจ้างต้องมีสิทธิได้รับวันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี (รวมวันแรงงาน) โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งหากนายจ้างไม่ให้วันหยุด จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ในกรณีที่นายจ้าง ต้องการให้ลูกจ้างปฏิบัติงาน ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดที่ไม่ได้ให้ จะต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุด ในอัตราที่สูงกว่าปกติ

  • วันหยุดพักผ่อนประจำปี

สำหรับพนักงานที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี ควรได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี หรือวันหยุดพักร้อน ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงานในทันที โดยไม่ต้องเฉลี่ย ทั้งยังสามารถทบวันลาพักร้อนไปใช้ปีหน้า หรือเก็บสะสมวันลาพักร้อนไว้ข้ามปี

  • ประกันสังคม

ประกันสังคม คือ สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ที่ลูกจ้างควรได้รับ ซึ่งตามกฎหมายประกันสังคม หากบริษัท หรือสถานประกอบการ มีการจ้างพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนพนักงาน เป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม และต้องเริ่มส่งเงินสมทบ ให้แก่กองทุนประกันสังคม ภายใน 30 วันหลังจากลูกจ้างเริ่มทำงาน 

ซึ่งในปี 2568 ประกันสังคมได้มีการเพิ่มสิทธิ ให้กับผู้ประกันตนหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรเป็น 1,000 บาท, สิทธิรักษามะเร็ง ได้ทุกโรงพยาบาล, เพิ่มโรงพยาบาลประกันสังคมเป็น 271 แห่ง และเงินทดแทนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 60% 

  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นสวัสดิการที่นายจ้าง อาจจัดให้โดยความสมัครใจ โดยนายจ้าง และลูกจ้างจะจ่ายเงินสมทบในอัตราที่ตกลงกัน เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่าย ในยามเกษียณอายุ ออกจากงาน และทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัว หากลูกจ้างเสียชีวิต

ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่ต้องการตัวช่วย ในการบันทึกเวลาทำงานแบบเรียลไทม์ หรือต้องการประกาศวันหยุด ให้พนักงานได้ทราบอย่างทั่วถึง ขอแนะ Cloud-TA ระบบบันทึกเวลาทำงานออนไลน์ ที่พนักงานสามารถเข้า – ออกงานได้ง่าย ๆ ผ่านการเช็กอินบนโทรศัพท์มือถือ หรือสแกนลายนิ้วมือที่เครื่อง ทั้งยังสามารถเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของพนักงานไว้ในที่เดียว

กฎหมายแรงงาน

รวม กฎหมายแรงงาน 2568 เพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

สิ่งที่พนักงานควรรู้ เกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานแรงงานนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน สิทธิในการลา รวมไปถึงการคุ้มครองในการจ้างงาน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกนายจ้าง หรือ HR ประจำบริษัทเอาเปรียบ ทั้งยังช่วยให้ทุกคน ได้รับสิทธิที่พึงได้อย่างยุติธรรม โดย Cloud-TA ได้รวบรวมกฎหมายแรงงาน ประจำปี 2568 มาไว้ให้แล้ว ดังนี้

  • อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2568

ในปี 2568 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง ในเรื่องของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 13) โดยให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • 400 บาทต่อวัน: ได้แก่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • 380 บาทต่อวัน: ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
  • 372 บาทต่อวัน: กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  • 359 บาทต่อวัน: นครราชสีมา
  • 358 บาทต่อวัน: สมุทรสงคราม
  • 357 บาทต่อวัน: ขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมืองเชียงใหม่) ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
  • 356 บาทต่อวัน: ลพบุรี
  • 355 บาทต่อวัน: นครนายก สุพรรณบุรี และหนองคาย
  • 353 บาทต่อวัน: กระบี่ และตราด
  • 352 บาทต่อวัน: กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตาก นครพนม บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก มุกดาหาร สกลนคร สงขลา (ยกเว้นอำเภอหาดใหญ่) สระแก้ว สุราษฎร์ธานี (ยกเว้นอำเภอเกาะสมุย) และอุบลราชธานี
  • 351 บาทต่อวัน: ชุมพร เพชรบุรี และสุรินทร์
  • 350 บาทต่อวัน: นครสวรรค์ ยโสธร และลำพูน
  • 349 บาทต่อวัน: กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ เพชรบูรณ์ และร้อยเอ็ด
  • 348 บาทต่อวัน: ชัยนาท ชัยภูมิ พัทลุง สิงห์บุรี และอ่างทอง
  • 347 บาทต่อวัน: กำแพงเพชร พิจิตร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สตูล สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
  • 345 บาทต่อวัน: ตรัง น่าน พะเยา และแพร่
  • 337 บาทต่อวัน: นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
  • ชั่วโมงการทำงานต่อวัน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานของประเทศไทย ได้มีการระบุกฎเกณฑ์ ในเรื่องเวลาทำงานอย่างชัดเจน โดยระยะเวลาทำงานปกติ ต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือตามที่นายจ้าง และลูกจ้างตกลงกัน แต่ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม สำหรับงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง เช่น งานเช็ดกระจกบนตึกสูง หรืองานที่เกี่ยวกับสารเคมี ตามกฎหมาย ได้มีการกำหนดเวลาทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน รวมแล้วไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

  • ชั่วโมงการพัก

เมื่อมีการทำงาน ก็ต้องมีเวลาพัก เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน หรือผ่อนคลายความเครียด โดยกำหนดให้ลูกจ้างต้องมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และต้องเป็นการพัก หลังจากที่ทำงานติดต่อกันไม่เกิน 5 ชั่วโมง นอกจากนี้ หากมีการทำ OT 2 ชั่วโมงขึ้นไป ต้องมีการพักก่อนทำงานล่วงเวลา ไม่น้อยกว่า 20 นาที

  • สิทธิในการลาประเภทต่าง ๆ

อีกหนึ่งในสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่มนุษย์เงินเดือนทุกคน ต้องทำความเข้าใจให้ดี คือ สิทธิในการลาประเภทต่าง ๆ เพราะพนักงานทุกคน ต้องได้รับสิทธิการลาตามกฎหมาย โดยแบ่งการลาออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

1. ลาป่วย

ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ทั้งนี้ นายจ้างสามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ ในกรณีที่ลูกจ้างลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป

2.ลากิจ

ลูกจ้างมีสิทธิลากิจ เพื่อไปทำธุระส่วนตัว ที่พนักงานจำเป็นต้องดำเนินการด้วยตัวเอง ตามข้อบังคับการทำงานของแต่ละบริษัท โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 5 – 10 วันต่อปี 

3.ลาคลอด

สำหรับลูกจ้างหญิง มีสิทธิลาคลอดได้ 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน ส่วนที่เหลือจะได้รับเงินสงเคราะห์ จากประกันสังคมในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง

4.ลาไปทำหมัน

หากต้องการทำหมัน ลูกจ้างสามารถลาหยุด เพื่อไปทำหมันได้ ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันกำหนด โดยลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลา

5.ลาไปรับราชการทหาร

สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับราชการทหาร ก็สามารถลาหยุด เพื่อไปรับราชการทหารได้ โดยจะได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลา สูงสุดไม่เกิน 60 วันต่อปี

นอกจากนี้ สำหรับองค์กรยุคใหม่ อาจมีการกำหนดวันลาเพิ่มเติม เพื่อครอบคลุมการใช้ชีวิตของพนักงาน และตอบโจทย์ยุค Work life balance เช่น วันลาพักใจ วันลาเพื่อดูแลครอบครัว วันลาในวันเกิด วันลาเพื่อพัฒนาตัวเอง วันลาเพื่อดูแลสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่วันลาเพื่อแปลงเพศ เป็นต้น

  • การคุ้มครองการจ้างงาน และเลิกจ้าง

กรณีที่มีการเลิกจ้าง ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจนว่า หากนายจ้างต้องการเลิกจ้าง ควรแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง หากไม่แจ้งล่วงหน้า ต้องจ่ายค่าชดเชย แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยมีการกำหนดอัตราค่าชดเชยไว้ ดังนี้

  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี: ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้าง 30 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี: ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้าง 90 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี: ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้าง 180 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี: ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้าง 240 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี: ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้าง 300 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป: ได้รับค่าชดเชย เท่ากับค่าจ้าง 400 วัน

ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกจ้างทำความผิดร้ายแรง เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย และประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชย

  • การใช้แรงงาน

ตามเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้มีการระบุขอบเขต เกี่ยวกับการใช้แรงงานหญิง และแรงงานเด็กอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และจิตใจจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น

  • การใช้แรงงานหญิง

ห้ามลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ ทำงานในช่วงเวลา 22.00 – 06.00 น. และการทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด รวมถึงห้ามทำงานในที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานในเมืองแร่ งานก่อสร้างใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ และในปล่องภูเขา หรืองานที่ต้องทำบนนั่งร้าน สูงกว่าพื้น 10 เมตรขึ้นไป

  • การใช้แรงงานเด็ก

ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือในกรณีที่จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีการแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงาน ทั้งยังห้ามทำงานในช่วงเวลา 22.00 – 06.00 น. และห้ามทำงานล่วงเวลาเป็นอันขาด

สำหรับองค์กรที่ต้องการระบบบันทึกเวลาทำงาน แบบออนไลน์ หรือต้องการจัดเก็บข้อมูลสำคัญ ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น อย่าลืมนึกถึง Cloud-TA ระบบ Time Attendance ที่ช่วยจัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัยบนระบบคลาวด์ของไมโครซอฟต์ (Microsoft Azure) ทำให้ HR สามารถอัปเดตข้อมูล ที่พนักงานต้องรู้ได้ในทันที โดยไม่ต้องอ่านข้อมูล บนบอร์ดประกาศให้เสียเวลา หากสนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

Website: https://cloud-ta.com/

Email: cloud-ta@innova.co.th

Tel: 091-717-5499, 092-273-1760 (Sale)

Line: @Cloud-TA